ข่า (Galanga, Creater Galanga, False Galanga) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกเหง้า จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับขิง ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคกลางเรียกข่าตาแดง ภาคเหนือเรียกข่าหยวก, ข่าหลวง, ข่าใหญ่ หรือกฎุกกโรหินี ส่วนชาวกะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอนเรียกสะเออเคย เป็นต้น ซึ่งข่าที่นิยมในปัจจุบันมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น ข่าหยวก, ข่าป่า และข่าตาแดง มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่มักนิยมนำข่าตาแดงมาทำเป็นยา
ลักษณะทั่วไปของข่า
สำหรับต้นข่านั้นจัดเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงของลำต้นประมาณ 1.5 – 2 เมตร บริเวณส่วนของเหง้าจะมีข้อและปล้องค่อนข้างชัดเจนทีเดียว ส่วนใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะทรงรี และดอกจะออกที่บริเวณยอดของข่า มีดอกย่อยขนาดเล็ก สีขาว ส่วนปลายจะแยกออกเป็น 3 กลีบ และบริเวณโคนติดกันคล้ายหลอดสั้นๆ เป็นใบประดับรูปรีหรือไข่ และผลเป็นทรงกลมเมื่อผลแห้งจะแตกได้ง่าย
ประโยชน์และสรรพคุณของข่า
ใบ – ใช้สำหรับแก้โรคกลากเกลื้อน แก้ปวดเมื่อยบริเวณข้อต่างๆ และช่วยในการฆ่าพยาธิ ให้รสเผ็ดร้อน
ดอก – ใช้สำหรับแก้โรคกลากเกลื้อน ให้รสเผ็ดร้อน
ผล – ช่วยแก้อาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน แก้บิด หรือท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น ให้รสเผ็ดร้อนฉุน
หน่อ – ช่วยในการบำรุงธาตุไฟ และแก้ลมแน่นหน้าอก ให้รสเผ็ดร้อนหวาน
เหง้า – ใช้ตำกับมะขามเปียกและเกลือให้สตรีรับประทานหลังคลอด ช่วยขับเลือดคาวปลา แก้อาการตกเลือด หรือขับรก นอกจากนี้ยังช่วยแก้อาการปวดท้อง หรือจุกเสียดแน่น ช่วยขับลมให้กระจาย แก้พิษ แก้บิด แก้อาการฟกช้ำ แก้ลมป่วง แก้สันนิบาตหน้าเพลิง และแก้โรคกลากเกลื้อน ให้รสเผ็ดร้อนขม
ต้นแก่ – ใช้ตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว ช่วยในการแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อต่างๆ หรือข้อ และแก้ตะคริว ให้รสเผ็ดร้อนซ่า
ราก – ช่วยแก้อาการเหน็บชา แก้เสมหะและโลหิต และช่วยขับเลือดลมให้เดินสะดวก ให้รสเผ็ดร้อนปร่า
นับเป็นพืชสมุนไพรที่ประเทศไทยเราและอินโดนีเซียนิยมนำมาประกอบอาหารรับประทาน เพราะข่านั้นช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ต่างๆ ได้ดี รวมทั้งยังใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหาร หรือปรุงรสอาหารในต้มข่า หรือต้มยำ ตลอดจนเป็นส่วนผสมในเครื่องแกง หรือน้ำพริกต่างๆ นอกจากนี้ในบางประเทศยังนิยมนำข่ามาใช้ในการระงับกลิ่นปากและกลิ่นกายอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น