กล้วยน้ำว้า (Banana) เป็นพืชผลไม้จำพวกต้น มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ในเชียงใหม่หรือเชียงรายเรียกกล้วยใต้ ส่วนจันทบุรีเรียกกล้วยมะลิอ่อง หรือชัยภูมิเรียกกล้วยอ่อง และในอุบลราชธานีเรียกกล้วยตานีอ่อง เป็นต้น ซึ่งเป็นพันธุ์กล้วยชนิดหนึ่งที่ผสมผสานระหว่างกล้วยป่าและกล้วยตานี ปลูกง่าย รสชาติอร่อย เป็นที่นิยมบริโภคกันมาก มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ น้ำว้าขาว น้ำว้าแดง และน้ำว้าเหลือง
ลักษณะทั่วไปของกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ 3.5 เมตร กาบเรียงซ้อนกันเป็นลำต้น สีเขียวอ่อน เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ เรียงสลับกัน รูปขอบขนาน ปลายมน ขอบและแผ่นใบเรียบ ก้านใบเป็นร่องแคบๆ ส่วนดอกจะออกเป็นช่อตรงปลายห้อยลง หรือที่เรียกกันว่า หัวปลี และผลเป็นรูปทรงรี ยาวประมาณ 11 – 13 เซนติเมตร ผิวเรียบ เนื้อในขาว ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง รสชาติหวาน อร่อย โดยใน 1 หวี มีผลอยู่ประมาณ 10 – 16 ผล
ประโยชน์และสรรพคุณของกล้วยน้ำว้า
ประโยชน์ของกล้วยน้ำว้าทางสมุนไพรนั้นมีมากมาย เรียกได้ว่าแทบจะทุกส่วนของต้นกล้วยเลยก็ว่าได้ มีดังนี้
ราก – ใช้ต้มดื่มแก้ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ ตลอดจนช่วยสมานแผลภายใน และอาการท้องเสีย ผื่นคัน หรือบิด ให้รสฝาดเย็น
ใบ – นำไปปิ้งไฟสามารถปิดแผลที่เกิดจากไฟไหม้ หรือต้มอาบแก้ผื่นคัน ให้รสเย็นจืด
ยาง – ช่วยในการห้ามเลือด และสมานแผล ให้รสฝาด
ผลดิบ – สามารถนำไปหั่นบดเป็นผง หรือชงน้ำร้อนรับประทาน ช่วยแก้อาการท้องเสียเรื้อรังที่เป็นสาเหตุให้อาหารไม่ย่อย และช่วยรักษาแผลที่เกิดในกระเพาะอาหารได้ ให้รสฝาด
ผลสุก – ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ ให้รสหวาน
หัวปลี – ช่วยแก้โรคโลหิตจาง ลดระดับน้ำตาลในเลือด และแก้กระเพาะอาหารในลำไส้ ให้รสฝาด
น้ำคั้นจากหัวปลี – ช่วยบำรุงโลหิต แก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด ให้รสฝาดเย็น
นอกจากความอร่อยและหาซื้อรับประทานได้ง่ายของกล้วยน้ำว้าแล้ว ยังมีความเชื่อว่าหากรับประทานกล้วยน้ำว้าหลังตื่นนอนก่อนแปรงฟันจะช่วยลดกลิ่นปากได้ด้วย และยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารรับประทานกันได้มากมาย เช่น กล้วยเชื่อม กล้วยกวน กล้วยทอด กล้วยปิ้ง ฯลฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น