วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กระแตไต่ไม้

กระแตไต่ไม้ (Oak-Leaf fern, Drynaria) เป็นสมุนไพรที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น กาญจนบุรีเรียกสไบนาง, ใบหูช้าง หรือหัวว่าว ปัตตานีเรียกหว่าว หรือกะปรอกว่าว ส่วนในภาคเหนือเรียกกุดตีนปง, กะปรอกหัวลง, กูดไม้ หรือกูดอ้อม และมลายูเรียกเดากาโล้ะ เป็นพืชจำพวกหัวหรือเหง้า กระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนอย่างอินเดีย ศรีลังกา ฯลฯ ส่วนของไทยเราพบได้แทบทุกภาค โดยมักพบเกาะตามต้นไม้ใหญ่ หรือบริเวณโขดหินที่ค่อนข้างชุ่มชื้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในป่าดิบแล้ง ป่าชายเลน หรือป่าเต็งรัง
ลักษณะทั่วไปของกระแตไต่ไม้
กระแตไต่ไม้เป็นไม้ล้มลุกประเภทเฟิร์น โดยลำต้นจะทอดนอนได้ยาวถึง 1 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ส่วนบริเวณเหง้าจะอ้วนเป็นหัวกลมๆ มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้มปกคลุมอยู่ และมีขนยาวคล้ายกำมะหยี่ ใต้เหง้าเป็นรากทำหน้าที่หาอาหารมีสีน้ำตาล ส่วนเนื้อข้างในเป็นสีขาวและเขียว เป็นใบเดี่ยว ใบกาบรูปไข่ ปราศจากก้าน ขอบใบหยักตื้น มีปลายแหลม ตรงโคนและปลายมน ใบกาบมักออกในช่วงฤดูฝน สีเขียวอ่อน หากเป็นฤดูแล้งจะมีสีน้ำตาล



ใบของกระแตไต่ไม้นี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นใบที่ไม่มีการสร้างสปอร์ โดยใบจะตั้งเฉียงกับลำต้น รูปไข่ ปลายมนหรือแหลม มีฐานรูปหัวใจ ใบประเภทนี้จะไม่มีก้าน และส่วนอีกชนิดหนึ่งจะเป็นใบแบบที่มีการสร้างสปอร์ มีแผ่นใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลม บริเวณฐานเป็นรูปลิ่ม เรียงตัวกันแบบขนนก สีเขียวหม่น เนื้อใบค่อนข้างเหนียว
ประโยชน์และสรรพคุณของกระแตไต่ไม้
หัว – ช่วยในการขับปัสสาวะ แก้นิ่ว หรือไตพิการ ขับพยาธิ แก้เบาหวาน ช่วยรักษาแผลเนื้อร้าย แก้แผลพุพอง ตลอดจนควบคุมธาตุ ขับระดูขาว ให้รสจืด
นอกจากนี้ กระแต่ไต่ไม้ยังนิยมปลูกเพื่อนำมาทำเป็นไม้ประดับตกแต่งเพื่อความสวยงามอีกด้วย และยังเชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่ให้คุณด้านเมตตามหานิยม ช่วยให้กิจการค้าขายเจริญรุ่งเรือง จึงทำให้กระแตไต่ไม้นี้ได้รับความนิยมมากขึ้น











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น